วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การกันผู้ต้องหาเป็นพยาน

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกันผู้ต้องหาเป็นพยาน  

             ข้อ ๑. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๖ โจทก์มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เพื่อที่ศาลจะได้ใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๗ พิพากษาลงโทษจำเลย ดังนี้ หลักในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานในคดีเดียวกันนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๓๒ ทั้งนี้ คำพยานดังกล่าวก็ยังถือได้ว่า มีน้ำหนักน้อยมาก ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง
             ข้อ ๒. คดีที่มีเหตุพิเศษ ยุ่งยากสลับซับซ้อน หรือร้ายแรง ที่คนจำนวนมากพากันเกรงกลัว หรือคดีบางเรื่องเกิดในที่ลี้ลับโดยบุคคลอื่นไม่สามารถรู้เห็นได้ นอกจากเป็นผู้กระทำผิดด้วยกัน หรือคดีที่มีการกระทำในรูปขบวนการ (Organized Crime)  ซึ่งพนักงานสอบสวนได้พยายามแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานทุกวิถีทางแล้ว ก็ไม่ทำให้ได้พยานหลักฐานในคดีนั้นอีก พนักงานสอบสวนอาจพิจารณากันผู้ต้องหาซึ่งได้ร่วมกระทำผิดด้วยกันคนใดคนหนึ่งเป็นพยาน ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
                        (๑)  ผู้ต้องหาที่จะกันเป็นพยานนั้น ไม่ใช่ตัวการสำคัญ
                        (๒)  ถ้าไม่กันผู้ต้องหาคนนั้นเป็นพยานแล้ว พยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการดำเนินคดี และไม่อาจแสวงหาพยานหลักฐานอื่นใดได้อีก
                        (๓)  ผู้ที่จะถูกกันเป็นพยานนั้นเป็นผู้รู้เห็นในคดีนั้น ให้การเป็นประโยชน์แก่การสอบสวน และจะไปเบิกความในชั้นศาลได้
             ข้อ ๓. ผู้มีอำนาจอนุญาตให้กันผู้ต้องหาเป็นพยาน ตามหนังสือที่ ๐๐๐๑(ป)/๑๒๔ ลง ๒๘ ม.ค.๒๕๔๒
                        (๑)  ในกรุงเทพมหานคร ให้เสนอถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อนุญาต
                        (๒)  ในต่างจังหวัด ให้เสนอถึงผู้บังคับการขึ้นไป เป็นผู้อนุญาต
             ข้อ ๔. ในการสอบสวนปากคำผู้ต้องหาที่ขอกันเป็นพยาน ให้ทำการสอบสวนปากคำในฐานะผู้ต้องหา ให้ปรากฏข้อเท็จจริงตามรูปคดีโดยละเอียดเท่าที่สามารถจะทำได้ พนักงานสอบสวนพึงระมัดระวังในการสอบสวนเพราะผู้ต้องหาอาจให้การบิดเบือน หรือซัดทอด และซ้ำเติมพวกเดียวกันซึ่งอาจจะเป็นความเท็จได้ นอกจากนี้ สิ่งที่พนักงานสอบสวนต้องห้ามมิให้ดำเนินการใด ๆ โดยใช้ถ้อยคำอันเป็นการจูงใจ  มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใด ๆ ซึ่งอาจทำให้เสียหายต่อรูปคดีได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อที่พนักงานสอบสวนต้องพึงระมัดระวังไว้อย่างยิ่งคือ การกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้น จะต้องมีพยานอื่น ๆ หรืออาศัยถ้อยคำพยานชนิดนี้สืบสวนให้ได้พยานหลักฐานอื่น ๆ มาเป็นหลักฐานแห่งคดีอีกได้ เพราะการที่พนักงานสอบสวนกันผู้ต้องหาคนใดเป็นพยานนั้น  พนักงานอัยการมีอำนาจที่จะให้พนักงานสอบสวนส่งตัวไปฟ้องก็ได้ จึงจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องไตร่ตรองผลได้ ผลเสีย ก่อนที่จะวินิจฉัยเด็ดขาด ขอกันพยานตามเหตุผลแห่งคดี
             ข้อ ๕. เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนมีความเห็นทางคดีตามทางการสอบสวนที่ได้ความนั้น โดยไม่ต้องแยกสำนวนการสอบสวนก็ได้ สำหรับผู้ต้องหาที่ได้รับการอนุญาตให้กันเป็นพยาน ให้มีความเห็นทางคดีสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหารายนั้นด้วย
                        ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมหรือขังอยู่ในระหว่างสอบสวนให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อย ปล่อยชั่วคราว หรือขอให้ศาลปล่อย แล้วแต่กรณี
             ข้อ ๖. หลังจากที่เสนอสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา ถ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยานนั้น พนักงานสอบสวนต้องนำตัวผู้ต้องหานั้นส่งมอบให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องต่อไป ถ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยานแล้ว ให้ทำการสอบสวนผู้นั้นในฐานะพยาน โดยให้สาบานตน หรือปฏิญาณตนก่อนให้ถ้อยคำเช่นเดียวกับพยานอื่น
             ข้อ ๗. ในการสอบสวนปากคำในฐานะพยาน ให้พยานยืนยันบันทึกปากคำของตนเองที่ให้ไว้ในฐานะผู้ต้องหาเป็นถ้อยคำของตนในฐานะพยาน โดยให้ยืนยันตามคำให้การเดิม รวมทั้งให้การในประเด็นอื่นเพิ่มเติม (ถ้ามี) อันจะทำให้การสอบสวนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังมิให้เกิดจากการให้สัญญา หรือจูงใจอันจะทำให้น้ำหนักในการรับฟังพยานลดลง ไม่น่าเชื่อถือ และเป็นการเสียหายต่อคดี