วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การรับฟังพยานหลักฐาน "เทปบันทึกเสียง"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๒๘๑/๒๕๕๕
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖, ๒๒๖/๑
               การบันทึกเทปเป็นการแอบบันทึกขณะที่มีการสนทนากันระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ ๒ โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖
              แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในกรณีเจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ตามระหว่างพิจารณาคดีได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ.๒๕๕๑ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ โดยมาตรา ๑๑ บัญญัติให้เพิ่มมาตรา ๒๒๖/๑ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ได้ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในการรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๒
                  ดังนั้น เทปบันทึกเสียงรวมทั้งบันทึกการถอดเทปดังกล่าวแม้จะได้มาโดยมิชอบ แต่เมื่อศาลนำมาฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงนำพยานหลักฐานดังกล่าวมารับฟังได้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากบันทึกการถอดเทปดังกล่าวได้ใจความว่า โจทก์ร่วมไม่สมัครใจและไม่มีความเป็นอิสระในการชี้ตัวจำเลยที่ ๒ จึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่า โจทก์ร่วมและนาง ก. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ ๒ และตัวจำเลยที่ ๒ ผิดตัวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีเหตุอันควรแก่การสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๗๔/๒๕๔๓
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๒๔๓
ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ , ๖๕๓ วรรคสอง
ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔
              จำเลยสามารถนำสืบโต้แย้งจำนวนเงิน ที่กู้ไปจากโจทก์ได้ว่า ไม่ได้รับเงินไปครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๙๔ วรรคท้าย
             จำเลยนำสืบว่าในปี ๒๕๓๔ ถึง ๒๕๓๗ โจทก์นำบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยไปเบิกเงินเดือนของจำเลยเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท เป็นการนำสืบการใช้เงินโดยวิธีอื่น ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้
             การที่จำเลยอ้างส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งบันทึกการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลย พร้อมเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนาเป็นพยานหลักฐานนั้น นับเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบในประเด็นเรื่องการใช้เงิน แม้โจทก์จะไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม แต่เมื่อเสียงที่ปรากฏเป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงและเอกสารที่ถอดข้อความนั้นเป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบอันจะต้องมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๔๓ วรรคสอง

การรับฟังพยานหลักฐาน "บันทึกการจับกุม"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๑๔๘/๒๕๕๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๘๓, ๘๔, ๒๒๖
                 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔ วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ... ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่งหรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี"
                คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับจำเลย มิใช่ราษฎรเป็นผู้จับ จึงไม่มีกรณีที่จะต้องแจ้งสิทธิตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งสิทธิ ตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งแก่ผู้ถูกจับว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ในการนี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าว”
                ศาลฎีกาตรวจดูบันทึกการจับกุมแล้ว ปรากฏว่า เป็นลายมือเขียนด้วยน้ำหมึก มีข้อความว่า จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน ตามมาตรา ๘๔ วรรคสี่ และบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูกจับตามที่มาตรา ๘๓ วรรคสอง บัญญัติเลย พยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่างใด แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความในช่องว่างด้วยน้ำหมึกเขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึกเป็นคนละคนกับที่เขียนบันทึกการจับกุม ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่า "ผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้" กับไม่มีข้อความว่า "ถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้" แต่อย่างใด
                แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความ ก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่มาตรา ๘๓ วรรคสอง บัญญัติ ฉะนั้น ถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น บันทึกการจับกุมจึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้เพราะเป็นพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖

บทบัญญัติว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐาน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               "มาตรา ๘๔ (วรรคสี่)  ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ในชั้นจับกุม หรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง  (*แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้)  หรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง (*พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ)  แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี"

              "มาตรา ๑๓๔/๔  ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
               (๑) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
               (๒) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
               เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
               ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔/๑ (*ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ ฯลฯ)  มาตรา ๑๓๔/๒ (*ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี) และมาตรา ๑๓๔/๓ (*ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้) จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้"

              "มาตรา ๑๗๒ ตรี (วรรคสี่)  ในกรณีที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความตามวรรคหนึ่ง (*ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ฯลฯ) เพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ (*การถามปากคำเด็ก ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน) หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง (*ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ และมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ทั้งในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์และในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์)  เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล และให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีได้"

                "มาตรา ๒๒๖  พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน"

                "มาตรา ๒๒๖/๑  ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่ การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
                ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
                 (๑) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
                 (๒) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
                 (๓) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
                 (๔) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบ อันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่ เพียงใด"

                "มาตรา ๒๒๖/๒  ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่น ๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง เว้นแต่ พยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                 (๑) พยานหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับองค์ประกอบความผิดของคดีที่ฟ้อง
                 (๒) พยานหลักฐานที่แสดงถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลย
                 (๓) พยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวอ้างของจำเลยถึงการกระทำ หรือความประพฤติในส่วนดีของจำเลย
                 ความในวรรคหนึ่ง ไม่ห้ามการนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าว เพื่อให้ศาลใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือเพิ่มโทษ"