วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การจูงใจให้ผู้ต้องหาเพื่อให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๒๔/๒๕๔๔
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๕
                โจทก์มีพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า ภายหลังเกิดเหตุ พยานทั้งสองติดตามไปสอบปากคำจำเลยซึ่งได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำเลยรับต่อพยานทั้งสองว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ จำเลยต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเมาสุราหลับอยู่ในรถยนต์กระบะคันดังกล่าว ซึ่งมีนายวาทิตย์ เป็นผู้ขับ
                พยานโจทก์ทั้งสองปากต่างเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งสอบปากคำจำเลยในช่วงกระชั้นชิดต่อเนื่องกับเหตุการณ์จนจำเลยไม่มีเวลาเสริมแต่งข้อเท็จจริงได้ทันท่วงที จึงมีเหตุอันควรเชื่อดังที่พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความโดยไม่ระแวงสงสัยว่าเป็นการปรักปรำจำเลย ที่จำเลยต่อสู้โดยอ้างว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ น่าจะเป็นเพราะต้องการให้ตนเองพ้นผิด ซึ่งฟังหักล้างคำพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ได้
               ส่วนที่ร้อยตำรวจเอก ว. แจ้งแก่จำเลยที่โรงพยาบาลว่านายวาทิตย์ยังไม่ตาย ซึ่งผิดไปจากความจริงนั้น ไม่ถือเป็นการล่อลวงเพื่อจูงใจให้จำเลยรับว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ อันจะมีผลให้ไม่อาจฟังตามคำรับของจำเลยได้ดังจำเลยฎีกา หากแต่เป็นการดำเนินการที่พนักงานสอบสวนได้ทำไปเพื่อทราบข้อเท็จจริงตามอำนาจของกฎหมาย จึงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ จำเลยรับว่าขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการเมาสุรา ประกอบกับทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์สอดคล้องต้องกันมีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ กรณีเชื่อได้ว่าจำเลยขับรถในขณะมึนเมา ล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในทางเดินรถสวน โดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน
               การที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่ามิได้กระทำโดยประมาทโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ย่อมไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ จึงวินิจฉัยว่าเหตุเกิดเพราะจำเลยประมาท

การสอบสวนปากคำพยานพร้อมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๓๗๘/๒๕๓๙
ป.อ. มาตรา ๘๐, ๒๘๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๑, ๑๓๔, ๑๓๕, ๑๙๕ วรรคสอง
               ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใด ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวน ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนปากคำพยานโจทก์ทั้งห้าปากพร้อมกัน และพันตำรวจโท อ. พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วย จึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่
              โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ กำหนดโทษไว้เป็น ๓ ประการ คือ โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี โดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย คือ โทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ฉะนั้น โทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ๒๐ ปี ดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้ คือ ๑๓ ปี ๔ เดือน การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า ๑๕ ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การรับฟัง "คำรับสารภาพชั้นจับกุมหรือมอบตัว"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๑๕/๒๕๔๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔ วรรคท้าย, ๑๓๕
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๒
              มาตรา ๒ แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒)ฯ กำหนดให้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว
             ดังนั้น ข้อความในมาตรา ๘๔ วรรคสุดท้าย แห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ... ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน..." นั้น หมายถึง ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมคดีนี้ จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานผู้จับก่อนที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน
           ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ญาติพี่น้องฟัง ญาติพี่น้องจำเลยจึงบอกจำเลยให้รับสารภาพ แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น คำให้การดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๓๑/๒๕๔๘
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑/๒๕๔๘)
ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔, ๒๒๖
              ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๔๗ ออกใช้บังคับ มาตรา ๑๙ ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวยกเลิกความในมาตรา ๘๔ แห่ง ป.วิ.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสุดท้ายของมาตรา ๘๔ ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป บัญญัติว่า "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี"
              แสดงให้เห็นว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับ มารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หาได้มีความหมายว่าขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยไม่ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖ โดยชอบแล้ว
              ประกอบกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา ๘๔ วรรคสุดท้าย ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ ต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษได้ตามกฎหมายเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๖๒/๒๕๓๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๖ , ๒๒๗
               พยานหลักฐานประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ จะต้องไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพ การรับฟังคำรับชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยปฏิเสธในชั้นพิจารณามาใช้ลงโทษจำเลยโจทก์ต้องมีพยานประกอบว่าจำเลยกระทำผิดจริง โดยพยานประกอบนั้น ต้องมิใช่คำของเจ้าพนักงานตำรวจผู้สอบสวนคำรับนั้น
              ส่วนบันทึกการจับกุม คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่ายประกอบการนำชี้ที่เกิดเหตุ แม้จะมีภาพจำเลยและมีข้อความระบุว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนไม่ใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพื่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด

วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การรับฟังพยานหลักฐาน "รูปถ่าย"

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๘๕/๒๕๕๔
ป.วิ.อ.  การนําบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับใน ป.วิ.อ. การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
ป.วิ.พ.  ภาระการพิสูจน์  (มาตรา ๘๔ (เดิม))
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
              คดีอาญาโจทก์เป็นผู้ฟ้อง กล่าวหาว่าจําเลยกระทําความผิด จึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้แน่นหนารับฟังได้อย่างมั่นคง โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจําเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริง หากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นําสืบ รับฟังไม่ได้ว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง หรือมีเหตุอันควรระแวงสงสัยว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่แล้ว ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔ (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ และมาตรา ๒๒๗ โดยไม่จําต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจําเลยแต่อย่างใดอีก
              เมื่อเจ้าพนักงานตํารวจถ่ายรูปขณะกําลังตรวจค้นหาเมทแอมเฟตามีนที่กองขยะหลังปั๊มน้ำมัน ก็น่าจะถ่ายรูปเมทแอมเฟตามีนที่พบบนโต๊ะทํางานภายในห้องทำงานไว้ด้วย แม้จะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับให้ต้องถ่ายรูปและส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาล แต่เมื่อมีกล้องถ่ายรูปและถ่ายรูปไปบ้างแล้ว ก็ควรถ่ายรูปเหตุการณ์สําคัญ ๆ ไว้และส่งต่อศาลเพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดและผูกมัดจําเลยทั้งสองให้แน่นหนารับฟังได้อย่างมั่นคงปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริง การที่โจทก์ไม่ส่งภาพถ่ายการตรวจค้นพบของกลางทั้งหมดและแผนที่เกิดเหตุแสดงจุดต่าง ๆ ที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงเป็นการขาดพยานหลักฐานที่สําคัญเพื่อสนับสนุนคำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสามปากให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คำซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๓๔/๒๕๕๕
ป.อ. ร่วมกันฆ่าผู้อื่น (มาตรา ๒๘๘, ๘๓)
ป.วิ.อ. การรับฟังพยานบอกเล่า (มาตรา ๒๒๗  วรรคหนึ่ง)
              คําให้การของนาย ธ. แม้จะมีลักษณะเป็นคําซัดทอดในระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน แต่ขณะให้การนาย ธ. อายุไม่เกิน ๑๗ ปี ยังเป็นเยาวชนและต้องให้การต่อหน้าพนักงานสอบสวน ต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ด้วย คําให้การมีรายละเอียดของเหตุการณ์เป็นลำดับและต่อเนื่องกันอย่างมีเหตุผล ยากที่เยาวชนอายุไม่เกิน ๑๗ ปี จะปั้นแต่งขึ้นได้  นาย ธ. ให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังจากถูกจับในคดีอื่นเพียงวันเดียว ย่อมไม่มีโอกาสคบคิดกับผู้หนึ่งผู้ใดให้การปรักปรำหรือช่วยเหลือจําเลย น่าเชื่อว่า นาย ธ. ให้การตามเหตุการณ์ที่ตนพบเห็นตามความจริง
             คําให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวแม้เป็นพยานบอกเล่า และเป็นคําซัดทอดของผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้รับฟังเสียทีเดียว ศาลฎีกาจึงนํามารับฟังประกอบการวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๑๙๖/๒๕๕๔
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และ ๒๒๕ , ๒๒๗/๑
ป.อ. มาตรา ๕๓, ๗๘, ๘๖
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง (เดิม), ๖๖ วรรคสอง (เดิม)
              แม้คำเบิกความของ อ. ที่กล่าวถึงการกระทำของจำเลยจะเป็นพยานซัดทอดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๗/๑ หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน
            จำเลยเป็นเพียงคนกลางติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์ในส่วนการกระทำของจำเลยไปแล้ว หลังจากนั้นเมทแอมเฟตามีนย่อมตกเป็นของ อ. เพียงลำพัง โดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าของและร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน
             หากแต่การที่จำเลยติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ อ. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา ๘๖ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และ ๒๒๕ เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๓๐๓๓/๒๕๕๓
ป.อ.  ลักทรัพย์  (มาตรา ๓๓๕)
ป.วิ.อ. คําซัดทอดของผู้กระทําความผิดด้วยกัน  (มาตรา ๒๒๖/๓ , ๒๒๗/๑)
              แม้นาย ก. เป็นผู้ร่วมกระทําผิดกับจําเลย คําเบิกความของนาย ก. จะเข้าลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดด้วยกัน แต่คําซัดทอดดังกล่าวมิได้มาจากเหตุจูงใจที่จะเบิกความเพื่อให้ตนพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการเบิกความของตน
             นาย ก. เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน นาย ก.ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ซึ่งมีสาระสําคัญส่วนใหญ่ตรงกับคําเบิกความของนาย ก. ที่ศาลนี้ ต่อมา เมื่อพนักงานอัยการฟ้องนาย ก. ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีในฐานความผิดลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม นาย ก.ให้การรับสารภาพ ศาลดังกล่าวพิพากษาว่า นาย ก. มีความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุด คําเบิกความดังกล่าวเมื่อรับฟังประกอบพยานอื่นแล้วสอดคล้องกัน จึงฟังได้ว่านาย ก. ได้เบิกความตามความเป็นจริง

วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การรับฟัง "คำให้การในชั้นสอบสวน"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๒๕/๒๕๕๕
ป.อ. ฆ่าผู้อื่น (มาตรา ๒๘๘)
ป.วิ.อ. พยานบอกเล่า การชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า (มาตรา ๒๒๖/๓ , ๒๒๗/๑)
               ขณะเกิดเหตุ ว. เห็นจำเลยที่เข้ามาซื้อเครื่องดื่มชูกำลัง และขณะนั้นมีเพียงผู้ตายนั่งดื่มเบียร์อยู่ที่หน้าร้าน โดยไม่มีบุคคลอื่นใดอีก เมื่อ ว. เข้าไปหยิบเครื่องดื่มดังกล่าวให้จำเลยก็ได้ยินเสียงปืนดังรวมถึง ม. ซึ่งเป็นพยานแวดล้อมก็ยังได้ยินเสียงของ ว. ตะโกนด้วยความตกใจ จึงได้ขี่รถจักรยานกลับเข้ามาที่ร้านอีก ขณะขี่รถจักรยานกลับเข้ามาก็ยังสวนกับรถกระบะสีดำ เมื่อมาถึงร้านของ ว. ผู้ตายนอนคว่ำมีเลือดไหลนองและเห็น ว. ร้องไห้ด้วยความตกใจอยู่ แสดงว่า ว. มิได้หมดสติไปตามที่ ว. เบิกความต่อศาล แต่การที่ ว. เบิกความต่อศาลว่า ไม่รู้ว่าบุคคลที่มาซื้อเครื่องดื่มชูกำลังจะอยู่ในห้องพิจารณาหรือไม่ ลักษณะเป็นการเบิกความบ่ายเบี่ยง อาจเป็นเพราะด้วยความกลัวจำเลย แต่เมื่อฟังประกอบกับคำให้การในชั้นสอบสวนของ ว. ที่ให้การในวันเกิดเหตุทันทีทันใด ยังมิได้มีความคิดที่กลัวจำเลยหรือจะให้การช่วยเหลือจำเลยว่า จำเลยเป็นคนขับรถกระบะสีดำเข้ามาที่ร้านจอดซื้อเครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อ ว. เดินเข้าไปหยิบเครื่องดื่มดังกล่าวก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ๓ นัด และได้ตั้งสติออกมาดูบริเวณที่ผู้ตายนั่งอยู่เห็นผู้ตายล้มฟุบตะแคงอยู่กับพื้น ไม่พบจำเลยและรถกระบะคันดังกล่าวอีก
               ซึ่งสอดคล้องกับที่ ม. ได้ขี่รถจักรยานสวนเข้ามาที่ร้านก็เห็นรถกระบะสีดำขับสวนออกไป รวมถึงการที่ชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหา ว. ได้ชี้ภาพถ่าย ๖ ภาพและชี้ภาพถ่ายจำเลยว่าเป็นบุคคลที่มาซื้อเครื่องดื่มชูกำลัง และนอกจากนี้ ว. ได้ให้การว่า รูปภาพทั้งหมด ว. ได้ดูอย่างละเอียดแล้ว และได้ทำการชี้ภาพถ่ายของจำเลยโดยขอยืนยันว่าเป็นบุคคลที่มาถามซื้อเครื่องดื่มชูกำลังก่อนที่จะมีเหตุยิงกัน ในที่เกิดเหตุจึงมีเพียงจำเลยซึ่งเป็นบุคคลที่เข้าไปในร้านในขณะที่ผู้ตายนั่งดื่มเบียร์ จึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเสียงปืนดังมาจากฝั่งตรงข้ามของร้านตามที่ ม. เบิกความไว้
                แม้ ว. จะไม่เห็นขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่ ว. ก็เป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากที่สุดและยังมี ม. เป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมอีกปากหนึ่งที่เห็นคนร้ายขับรถกระบะหลบหนีไป ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนของ ว. แม้จะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังได้ยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๐๑/๒๕๕๕
ป.วิ.อ.  การรับฟังพยานหลักฐาน  (มาตรา ๒๒๗)
               ในทางพิจารณา โจทก์มีประจักษ์พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์นำสืบรวม ๓ ปาก คือ ผู้เสียหายที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๖ แต่ประจักษ์พยานทั้งสามปากนี้เบิกความในส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ แตกต่างตรงกันข้ามกับที่พยานเคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน โดยในชั้นสอบสวนให้การเป็นอย่างเดียวกันว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิง แต่ในชั้นพิจารณากลับเบิกความเป็นอย่างเดียวกันทั้งสามปากว่า ไม่เห็นหน้าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิง ประเด็นสำคัญข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกันศาลชั้นต้น ฟังเชื่อเหมือนกันว่า คำให้การของพยานทั้งสามในชั้นสอบสวนมีพยานหลักฐานและเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่าเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานเหล่านี้ รับฟังได้ว่าจำเลยคือคนร้าย
               ในกรณีที่คำเบิกความของพยานในชั้นศาลแตกต่างจากที่พยานได้เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ กฎหมายมิได้บังคับว่าศาลต้องรับฟังตามที่พยานมาเบิกความในชั้นศาลเท่านั้น มิฉะนั้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้พยานกระทำการในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ และอาจก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงและบิดเบือนข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยใช้พยานเป็นเครื่องมือด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องต่าง ๆ ตามมามากมาย ในกรณีเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนเพื่อใช้ประกอบดุลยพินิจในการเปรียบเทียบว่าอันไหนจะถูกต้องเป็นจริงกว่ากันได้ ซึ่งถ้าศาลเชื่อตามคำให้การในชั้นสอบสวนมากกว่า อันเป็นการเชื่อตามข้อยกเว้น ศาลย่อมต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากโดยจะต้องมีเหตุผลที่ได้จากพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมั่นคงในสำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๕๑/๒๕๕๔
ป.วิ.อ.  คำให้การชั้นสอบสวน  พยานบอกเล่ารับฟังได้ (มาตรา ๒๒๖/๓)
                คำให้การชั้นสอบสวนของนางสาว ส. เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่นางสาว ส. เป็นผู้รู้เห็นการกระทำผิดของจำเลยและได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ในฐานะพยาน สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์อีกสองปาก กับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพยานโจทก์ทั้งสองมาก่อน จึงต้องด้วยข้อยกเว้นที่ห้ามมิให้รับฟัง ศาลมีอำนาจรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบการพิจารณาของศาลได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การรับฟังพยานหลักฐาน "เทปบันทึกเสียง"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๒๘๑/๒๕๕๕
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖, ๒๒๖/๑
               การบันทึกเทปเป็นการแอบบันทึกขณะที่มีการสนทนากันระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ ๒ โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖
              แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในกรณีเจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ตามระหว่างพิจารณาคดีได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ.๒๕๕๑ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ โดยมาตรา ๑๑ บัญญัติให้เพิ่มมาตรา ๒๒๖/๑ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ได้ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในการรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๒
                  ดังนั้น เทปบันทึกเสียงรวมทั้งบันทึกการถอดเทปดังกล่าวแม้จะได้มาโดยมิชอบ แต่เมื่อศาลนำมาฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงนำพยานหลักฐานดังกล่าวมารับฟังได้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากบันทึกการถอดเทปดังกล่าวได้ใจความว่า โจทก์ร่วมไม่สมัครใจและไม่มีความเป็นอิสระในการชี้ตัวจำเลยที่ ๒ จึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่า โจทก์ร่วมและนาง ก. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ ๒ และตัวจำเลยที่ ๒ ผิดตัวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีเหตุอันควรแก่การสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๗๔/๒๕๔๓
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๒๔๓
ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๑ , ๖๕๓ วรรคสอง
ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔
              จำเลยสามารถนำสืบโต้แย้งจำนวนเงิน ที่กู้ไปจากโจทก์ได้ว่า ไม่ได้รับเงินไปครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๙๔ วรรคท้าย
             จำเลยนำสืบว่าในปี ๒๕๓๔ ถึง ๒๕๓๗ โจทก์นำบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยไปเบิกเงินเดือนของจำเลยเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท เป็นการนำสืบการใช้เงินโดยวิธีอื่น ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้
             การที่จำเลยอ้างส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งบันทึกการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลย พร้อมเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนาเป็นพยานหลักฐานนั้น นับเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบในประเด็นเรื่องการใช้เงิน แม้โจทก์จะไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม แต่เมื่อเสียงที่ปรากฏเป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงและเอกสารที่ถอดข้อความนั้นเป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบอันจะต้องมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๔๓ วรรคสอง

การรับฟังพยานหลักฐาน "บันทึกการจับกุม"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๑๔๘/๒๕๕๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๘๓, ๘๔, ๒๒๖
                 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔ วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ... ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่งหรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี"
                คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับจำเลย มิใช่ราษฎรเป็นผู้จับ จึงไม่มีกรณีที่จะต้องแจ้งสิทธิตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งสิทธิ ตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งแก่ผู้ถูกจับว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ในการนี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าว”
                ศาลฎีกาตรวจดูบันทึกการจับกุมแล้ว ปรากฏว่า เป็นลายมือเขียนด้วยน้ำหมึก มีข้อความว่า จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน ตามมาตรา ๘๔ วรรคสี่ และบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูกจับตามที่มาตรา ๘๓ วรรคสอง บัญญัติเลย พยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่างใด แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความในช่องว่างด้วยน้ำหมึกเขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึกเป็นคนละคนกับที่เขียนบันทึกการจับกุม ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่า "ผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้" กับไม่มีข้อความว่า "ถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้" แต่อย่างใด
                แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความ ก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่มาตรา ๘๓ วรรคสอง บัญญัติ ฉะนั้น ถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น บันทึกการจับกุมจึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้เพราะเป็นพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖

บทบัญญัติว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐาน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               "มาตรา ๘๔ (วรรคสี่)  ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ในชั้นจับกุม หรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง  (*แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้)  หรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง (*พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ)  แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี"

              "มาตรา ๑๓๔/๔  ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
               (๑) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
               (๒) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
               เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
               ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔/๑ (*ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ ฯลฯ)  มาตรา ๑๓๔/๒ (*ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี) และมาตรา ๑๓๔/๓ (*ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้) จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้"

              "มาตรา ๑๗๒ ตรี (วรรคสี่)  ในกรณีที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความตามวรรคหนึ่ง (*ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ฯลฯ) เพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ (*การถามปากคำเด็ก ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน) หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง (*ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ และมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ทั้งในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์และในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์)  เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล และให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีได้"

                "มาตรา ๒๒๖  พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน"

                "มาตรา ๒๒๖/๑  ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่ การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
                ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
                 (๑) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
                 (๒) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
                 (๓) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
                 (๔) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบ อันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่ เพียงใด"

                "มาตรา ๒๒๖/๒  ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่น ๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง เว้นแต่ พยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                 (๑) พยานหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับองค์ประกอบความผิดของคดีที่ฟ้อง
                 (๒) พยานหลักฐานที่แสดงถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลย
                 (๓) พยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวอ้างของจำเลยถึงการกระทำ หรือความประพฤติในส่วนดีของจำเลย
                 ความในวรรคหนึ่ง ไม่ห้ามการนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าว เพื่อให้ศาลใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือเพิ่มโทษ"