วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

สารบัญ

วิธีการรวบรวมพยานหลักฐาน
            -  การสืบพยานไว้ล่วงหน้า
            -  การกันตัวผู้ต้องหาเป็นพยาน
            -  พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี
การรับฟังพยานหลักฐาน
            -  บทบัญญัติว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐาน
            -  การรับฟังฯ "บันทึกการจับกุม"
            -  การรับฟังฯ "เทปบันทึกเสียง"
            -  การรับฟังฯ "รูปถ่าย"
            -  การรับฟังฯ "คำให้การในชั้นสอบสวน"
            -  การรับฟังฯ "คำรับสารภาพในชั้นจับกุมหรือมอบตัว"
            -  การสอบสวนปากคำพยานพร้อมกัน
            -  การจูงใจผู้ต้องหาเพื่อให้การ
            -  คำซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกัน
            -  แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ
            -  การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ "คดีฆ่าผู้อื่น"

ค่าตอบแทนพยาน
            -  การเบิกจ่ายค่าตอบแทนพยานในคดีอาญา

วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

การเบิกจ่ายค่าตอบแทนพยานในคดีอาญา

พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๖
              มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
              “พยาน”  หมายความว่า พยานบุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญา หรือศาลในการดําเนินคดีอาญา รวมทั้งผู้ชํานาญการพิเศษ แต่มิให้หมายความรวมถึงจําเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน

               มาตรา ๑๗  เมื่อพยานได้ให้ข้อเท็จจริงต่อ พนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาพนักงานผู้มีอํานาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญา หรือเบิกความต่อศาลแล้วพยานพึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่จําเป็นและสมควร ทั้งนี้ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง แต่ในกรณีที่เป็นพยานโจทก์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์หรือเป็นพยานจําเลยให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคําสั่งให้มีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว แต่ไม่เกินอัตราตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

                 ตามบทกฎหมาย เห็นว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้บุคคลมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเป็นพยานมาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีอาญาต่อเจ้าพนักงาน หรือศาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงฐานะผู้ที่จะมาเป็นพยาน ทุกคนถือว่ามีความสำคัญต่อการพิสูจน์ความจริงในคดีทั้งสิ้น
                 ในส่วนการเบิกความต่อศาลนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ ศย ๐๑๖/ว ๑๘๒ ลง ๒๐ เม.ย.๒๕๕๘ แจ้งให้ศาลจ่ายค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรแก่พยานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แม้พยานนั้นจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดี เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม พนักงานสอบสวน หรือข้าราชการอื่น ๆ เป็นต้น ไม่ว่าจะได้เบิกความต่อศาลในฐานะพยานโจทก์ในคดีความผิดอาญาต่อแผ่นดิน หรือในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์
                 ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือข้าราชการที่จับกุมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนและให้ปากคำในฐานะผู้กล่าวหา และพยานมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เพราะทั้งผู้กล่าวหาและพยานต่างก็ให้ข้อเท็จจริงยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหา และจะต้องไปเบิกความเป็นพยานในชั้นศาลต่อไป
                 ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ให้ปากคำเป็นพยานในคดีที่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด เป็นการให้ปากคำว่าได้ทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดแล้วไม่ทราบว่าเป็นใคร อยู่ที่ใด มีลักษณะเป็นการรายงานปฏิบัติหน้าที่ของตน ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหาในคดีนั้น ดังนั้น พยานในกรณีนี้จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทน
                  ส่วนประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ในกรณีการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา หรือกรณีก่อนที่จะรับคำร้องทุกข์คดีอาญา ก็จะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เมื่อเป็นพยานที่ระบุไว้ในสำนวนการสอบสวน ตามข้อ ๖ วรรคสอง แห่งระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน สามี ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งบัญญัติว่า "ในส่วนของพยานที่ได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา และพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา จะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เฉพาะพยานที่ระบุไว้ในสำนวนการสอบสวน"
                   พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๑๐๗ บัญญัติว่า "...แต่ในกรณีที่เป็นพยานโจทก์ในความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์...ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งให้มีการจ่ายค่าตอบแทน..." และตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน สามี ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๗ ข้อ ๗ บัญญัติว่า "ในคดีความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์ พยานโจทก์ หรือพยานจำเลย อาจได้รับค่าตอบแทนตามอัตราที่กำหนดในระเบียบนี้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล" ศาลจะใช้ดุลยพินิจในการสั่งจ่ายค่าตอบแทน ไม่ได้ผูกพันให้ศาลต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่พยานโจทก์ทุกราย ทั้งนี้ ศาลจะต้องพิจารณาว่าพยานรายใดได้เบิกความแล้วให้ข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์ต่อคดีหรือไม่เพียงใด ส่วนตัวผู้เสียหายที่เป็นโจทก์นั้นกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนไว้ด้วย อีกทั้ง การที่ผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัว เป็นกรณีที่ผู้เสียหายมาขอความช่วยเหลือจากรัฐ โดยให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐ เพราะผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เมื่อใดก็ได้