วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การสอบสวนปากคำพยานพร้อมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๓๗๘/๒๕๓๙
ป.อ. มาตรา ๘๐, ๒๘๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๑, ๑๓๔, ๑๓๕, ๑๙๕ วรรคสอง
               ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใด ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวน ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนปากคำพยานโจทก์ทั้งห้าปากพร้อมกัน และพันตำรวจโท อ. พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วย จึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่
              โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ กำหนดโทษไว้เป็น ๓ ประการ คือ โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี โดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย คือ โทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ฉะนั้น โทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ๒๐ ปี ดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้ คือ ๑๓ ปี ๔ เดือน การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า ๑๕ ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง