วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                "มาตรา ๑๔๗  เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้น ในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"
(*ข้อพิจารณา.-  คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี   ได้แก่
               ๑. คำสั่งของอัยการสูงสุด ไม่ฟ้องคดีฆาตกรรมฯ ตามมาตรา ๑๔๓ วรรคท้าย
               ๒. ผบ.ตร.  รอง ผบ.ตร.  ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในกรุงเทพฯ หรือ ผบช.  รอง ผบช. ในจังหวัดอื่น เห็นชอบตามคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง  และมาตรา ๑๔๕/๑ วรรคหนึ่ง
               ๓. คำสั่งของอัยการสูงสุด ชี้ขาดไม่ฟ้องคดี ตามมาตรา ๑๔๕ วรรคสอง และมาตรา ๑๔๕/๑ วรรคสอง)

              "มาตรา ๑๔๒   ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม หรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราว หรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวน ว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
               ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งแต่สำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ ส่วนตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยหรือปล่อยชั่วคราว ถ้าผู้ต้องหาถูกขังอยู่ ให้ขอเองหรือขอให้พนักงานอัยการขอต่อศาลให้ปล่อย
               ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว
               แต่ถ้าเป็นความผิด ซึ่งพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบได้ และผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเปรียบเทียบนั้นแล้ว ให้บันทึกการเปรียบเทียบนั้นไว้ แล้วส่งไปให้พนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน"

              "มาตรา ๑๔๓  เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนดั่งกล่าวในมาตราก่อน ให้พนักงานอัยการปฏิบัติดั่งต่อไปนี้
                (๑) ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องต่อไป
                (๒) ในกรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ออกคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งไม่ฟ้อง
                ในกรณีหนึ่งกรณีใดข้างต้น พนักงานอัยการมีอำนาจ
                (ก) สั่งตามที่เห็นควร ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อสั่งต่อไป
                (ข) วินิจฉัยว่าควรปล่อยผู้ต้องหา ปล่อยชั่วคราว ควบคุมไว้ หรือขอให้ศาลขังแล้วแต่กรณี และจัดการหรือสั่งการให้เป็นไปตามนั้น
                ในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น มีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง"

              "มาตรา ๑๔๕  ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่น ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหา ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๓
                ในกรณีที่อธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน
                บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกาหรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม"



               "มาตรา ๑๔๕/๑  สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานครให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหา ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๓
                 ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่น แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการดังกล่าวแล้วแต่กรณีไปก่อน
                 บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม"

(*ข้อพิจารณา.- ผลของคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
               -  ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
               -  เว้นแต่ จะได้พยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
               -  พยานหลักฐานใหม่ ได้แก่ พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ตามมาตรา ๒๒๖ ที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนมาก่อน แต่ได้ปรากฏขึ้นโดยพิสูจน์ทราบในภายหลังจากที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีไปแล้ว และไม่ได้เกิดจากความบกพร่องละเลยไม่ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนมาก่อน
               -  พยานหลักฐานอันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ได้แก่ พยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลย และน่าจะทำให้ศาลแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ตามมาตรา ๒๒๗
               -  ถ้ามีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหมือนกับมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจยื่นฟ้องคดีต่อศาล ตามมาตรา ๑๒๐ แต่ถ้าเป็นพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลได้ภายในอายุความ แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องมาก่อนหลายครั้งแล้วก็ตาม)

               "มาตรา ๒๒๖  พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน"

              "มาตรา ๒๒๗  ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น"

              "มาตรา ๑๒๐  ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๔๓/๒๕๕๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๗
ป.ที่ดิน มาตรา ๔, ๙, ๑๐๘
             เหตุที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีแรกเนื่องจากมีการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์โคกสูงไม่ครบตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ในการที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลย เพราะเหตุมีการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทไม่ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ โดยแจ้งเพียงครั้งเดียวนั้น พนักงานอัยการยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี อีกทั้งการที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองอยู่ในที่ดินพิพาท จึงเป็นความผิดใหม่ที่ต่อเนื่องกันมา ทางอำเภอจึงได้แจ้งความร้องทุกข์และมีการสอบสวนดำเนินคดีใหม่และแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทให้ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ การฟ้องคดีนี้จึงไม่ขัดต่อมาตรา ๑๔๗ แห่ง ป.วิ.อ. แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๔๘๑/๒๕๔๔
ป.อ. มาตรา ๓๕๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕, ๑๔๖, ๑๔๗
            แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่า ไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕ และมาตรา ๑๔๖ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๔๗ ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
            จำเลยที่ ๔ มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ ๔ ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการ มาจากจำเลยที่ ๓ เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ ๔ ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๔ ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคแรก