วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การรับฟังพยานหลักฐาน "รูปถ่าย"

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๘๕/๒๕๕๔
ป.วิ.อ.  การนําบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับใน ป.วิ.อ. การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
ป.วิ.พ.  ภาระการพิสูจน์  (มาตรา ๘๔ (เดิม))
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
              คดีอาญาโจทก์เป็นผู้ฟ้อง กล่าวหาว่าจําเลยกระทําความผิด จึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้แน่นหนารับฟังได้อย่างมั่นคง โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจําเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริง หากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นําสืบ รับฟังไม่ได้ว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง หรือมีเหตุอันควรระแวงสงสัยว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่แล้ว ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔ (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ และมาตรา ๒๒๗ โดยไม่จําต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจําเลยแต่อย่างใดอีก
              เมื่อเจ้าพนักงานตํารวจถ่ายรูปขณะกําลังตรวจค้นหาเมทแอมเฟตามีนที่กองขยะหลังปั๊มน้ำมัน ก็น่าจะถ่ายรูปเมทแอมเฟตามีนที่พบบนโต๊ะทํางานภายในห้องทำงานไว้ด้วย แม้จะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับให้ต้องถ่ายรูปและส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาล แต่เมื่อมีกล้องถ่ายรูปและถ่ายรูปไปบ้างแล้ว ก็ควรถ่ายรูปเหตุการณ์สําคัญ ๆ ไว้และส่งต่อศาลเพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดและผูกมัดจําเลยทั้งสองให้แน่นหนารับฟังได้อย่างมั่นคงปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริง การที่โจทก์ไม่ส่งภาพถ่ายการตรวจค้นพบของกลางทั้งหมดและแผนที่เกิดเหตุแสดงจุดต่าง ๆ ที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงเป็นการขาดพยานหลักฐานที่สําคัญเพื่อสนับสนุนคำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสามปากให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คำซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๓๔/๒๕๕๕
ป.อ. ร่วมกันฆ่าผู้อื่น (มาตรา ๒๘๘, ๘๓)
ป.วิ.อ. การรับฟังพยานบอกเล่า (มาตรา ๒๒๗  วรรคหนึ่ง)
              คําให้การของนาย ธ. แม้จะมีลักษณะเป็นคําซัดทอดในระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน แต่ขณะให้การนาย ธ. อายุไม่เกิน ๑๗ ปี ยังเป็นเยาวชนและต้องให้การต่อหน้าพนักงานสอบสวน ต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ด้วย คําให้การมีรายละเอียดของเหตุการณ์เป็นลำดับและต่อเนื่องกันอย่างมีเหตุผล ยากที่เยาวชนอายุไม่เกิน ๑๗ ปี จะปั้นแต่งขึ้นได้  นาย ธ. ให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังจากถูกจับในคดีอื่นเพียงวันเดียว ย่อมไม่มีโอกาสคบคิดกับผู้หนึ่งผู้ใดให้การปรักปรำหรือช่วยเหลือจําเลย น่าเชื่อว่า นาย ธ. ให้การตามเหตุการณ์ที่ตนพบเห็นตามความจริง
             คําให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวแม้เป็นพยานบอกเล่า และเป็นคําซัดทอดของผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้รับฟังเสียทีเดียว ศาลฎีกาจึงนํามารับฟังประกอบการวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๑๙๖/๒๕๕๔
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และ ๒๒๕ , ๒๒๗/๑
ป.อ. มาตรา ๕๓, ๗๘, ๘๖
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง (เดิม), ๖๖ วรรคสอง (เดิม)
              แม้คำเบิกความของ อ. ที่กล่าวถึงการกระทำของจำเลยจะเป็นพยานซัดทอดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๗/๑ หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน
            จำเลยเป็นเพียงคนกลางติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์ในส่วนการกระทำของจำเลยไปแล้ว หลังจากนั้นเมทแอมเฟตามีนย่อมตกเป็นของ อ. เพียงลำพัง โดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าของและร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน
             หากแต่การที่จำเลยติดต่อหาเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายให้แก่ อ. ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ อ. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา ๘๖ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และ ๒๒๕ เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๓๐๓๓/๒๕๕๓
ป.อ.  ลักทรัพย์  (มาตรา ๓๓๕)
ป.วิ.อ. คําซัดทอดของผู้กระทําความผิดด้วยกัน  (มาตรา ๒๒๖/๓ , ๒๒๗/๑)
              แม้นาย ก. เป็นผู้ร่วมกระทําผิดกับจําเลย คําเบิกความของนาย ก. จะเข้าลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดด้วยกัน แต่คําซัดทอดดังกล่าวมิได้มาจากเหตุจูงใจที่จะเบิกความเพื่อให้ตนพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการเบิกความของตน
             นาย ก. เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน นาย ก.ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ซึ่งมีสาระสําคัญส่วนใหญ่ตรงกับคําเบิกความของนาย ก. ที่ศาลนี้ ต่อมา เมื่อพนักงานอัยการฟ้องนาย ก. ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีในฐานความผิดลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม นาย ก.ให้การรับสารภาพ ศาลดังกล่าวพิพากษาว่า นาย ก. มีความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุด คําเบิกความดังกล่าวเมื่อรับฟังประกอบพยานอื่นแล้วสอดคล้องกัน จึงฟังได้ว่านาย ก. ได้เบิกความตามความเป็นจริง