วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การกันผู้ต้องหาเป็นพยาน

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกันผู้ต้องหาเป็นพยาน  

             ข้อ ๑. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๖ โจทก์มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เพื่อที่ศาลจะได้ใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๗ พิพากษาลงโทษจำเลย ดังนี้ หลักในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานในคดีเดียวกันนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๓๒ ทั้งนี้ คำพยานดังกล่าวก็ยังถือได้ว่า มีน้ำหนักน้อยมาก ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง
             ข้อ ๒. คดีที่มีเหตุพิเศษ ยุ่งยากสลับซับซ้อน หรือร้ายแรง ที่คนจำนวนมากพากันเกรงกลัว หรือคดีบางเรื่องเกิดในที่ลี้ลับโดยบุคคลอื่นไม่สามารถรู้เห็นได้ นอกจากเป็นผู้กระทำผิดด้วยกัน หรือคดีที่มีการกระทำในรูปขบวนการ (Organized Crime)  ซึ่งพนักงานสอบสวนได้พยายามแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานทุกวิถีทางแล้ว ก็ไม่ทำให้ได้พยานหลักฐานในคดีนั้นอีก พนักงานสอบสวนอาจพิจารณากันผู้ต้องหาซึ่งได้ร่วมกระทำผิดด้วยกันคนใดคนหนึ่งเป็นพยาน ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
                        (๑)  ผู้ต้องหาที่จะกันเป็นพยานนั้น ไม่ใช่ตัวการสำคัญ
                        (๒)  ถ้าไม่กันผู้ต้องหาคนนั้นเป็นพยานแล้ว พยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการดำเนินคดี และไม่อาจแสวงหาพยานหลักฐานอื่นใดได้อีก
                        (๓)  ผู้ที่จะถูกกันเป็นพยานนั้นเป็นผู้รู้เห็นในคดีนั้น ให้การเป็นประโยชน์แก่การสอบสวน และจะไปเบิกความในชั้นศาลได้
             ข้อ ๓. ผู้มีอำนาจอนุญาตให้กันผู้ต้องหาเป็นพยาน ตามหนังสือที่ ๐๐๐๑(ป)/๑๒๔ ลง ๒๘ ม.ค.๒๕๔๒
                        (๑)  ในกรุงเทพมหานคร ให้เสนอถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อนุญาต
                        (๒)  ในต่างจังหวัด ให้เสนอถึงผู้บังคับการขึ้นไป เป็นผู้อนุญาต
             ข้อ ๔. ในการสอบสวนปากคำผู้ต้องหาที่ขอกันเป็นพยาน ให้ทำการสอบสวนปากคำในฐานะผู้ต้องหา ให้ปรากฏข้อเท็จจริงตามรูปคดีโดยละเอียดเท่าที่สามารถจะทำได้ พนักงานสอบสวนพึงระมัดระวังในการสอบสวนเพราะผู้ต้องหาอาจให้การบิดเบือน หรือซัดทอด และซ้ำเติมพวกเดียวกันซึ่งอาจจะเป็นความเท็จได้ นอกจากนี้ สิ่งที่พนักงานสอบสวนต้องห้ามมิให้ดำเนินการใด ๆ โดยใช้ถ้อยคำอันเป็นการจูงใจ  มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใด ๆ ซึ่งอาจทำให้เสียหายต่อรูปคดีได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อที่พนักงานสอบสวนต้องพึงระมัดระวังไว้อย่างยิ่งคือ การกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้น จะต้องมีพยานอื่น ๆ หรืออาศัยถ้อยคำพยานชนิดนี้สืบสวนให้ได้พยานหลักฐานอื่น ๆ มาเป็นหลักฐานแห่งคดีอีกได้ เพราะการที่พนักงานสอบสวนกันผู้ต้องหาคนใดเป็นพยานนั้น  พนักงานอัยการมีอำนาจที่จะให้พนักงานสอบสวนส่งตัวไปฟ้องก็ได้ จึงจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องไตร่ตรองผลได้ ผลเสีย ก่อนที่จะวินิจฉัยเด็ดขาด ขอกันพยานตามเหตุผลแห่งคดี
             ข้อ ๕. เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนมีความเห็นทางคดีตามทางการสอบสวนที่ได้ความนั้น โดยไม่ต้องแยกสำนวนการสอบสวนก็ได้ สำหรับผู้ต้องหาที่ได้รับการอนุญาตให้กันเป็นพยาน ให้มีความเห็นทางคดีสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหารายนั้นด้วย
                        ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมหรือขังอยู่ในระหว่างสอบสวนให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อย ปล่อยชั่วคราว หรือขอให้ศาลปล่อย แล้วแต่กรณี
             ข้อ ๖. หลังจากที่เสนอสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา ถ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยานนั้น พนักงานสอบสวนต้องนำตัวผู้ต้องหานั้นส่งมอบให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องต่อไป ถ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยานแล้ว ให้ทำการสอบสวนผู้นั้นในฐานะพยาน โดยให้สาบานตน หรือปฏิญาณตนก่อนให้ถ้อยคำเช่นเดียวกับพยานอื่น
             ข้อ ๗. ในการสอบสวนปากคำในฐานะพยาน ให้พยานยืนยันบันทึกปากคำของตนเองที่ให้ไว้ในฐานะผู้ต้องหาเป็นถ้อยคำของตนในฐานะพยาน โดยให้ยืนยันตามคำให้การเดิม รวมทั้งให้การในประเด็นอื่นเพิ่มเติม (ถ้ามี) อันจะทำให้การสอบสวนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังมิให้เกิดจากการให้สัญญา หรือจูงใจอันจะทำให้น้ำหนักในการรับฟังพยานลดลง ไม่น่าเชื่อถือ และเป็นการเสียหายต่อคดี

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การนำชี้ประกอบคำรับสารภาพคดีฆ่าผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙/๒๕๔๕
ป.อ. มาตรา ๒๘๙
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๗
              ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยกระทำต่อหน้าสื่อมวลชนและชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ยากต่อการที่เจ้าพนักงานตำรวจจะข่มขู่หรือหลอกลวง  ศ. ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ก็ได้ยินถ้อยคำที่จำเลยให้การรับสารภาพ ประกอบกับจำเลยเคยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมาเกือบ ๒๐ ปี ย่อมทราบดีว่าข้อกล่าวหาฆ่าบุพการีมีโทษถึงประหารชีวิต คงไม่ยอมรับสารภาพหากมิได้กระทำความผิดจริง
              ทั้งในคำให้การรับสารภาพมีรายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยเชื่อว่าที่ ผ. มารดาจำเลยไม่ยอมให้ยืมเงินเป็นเพราะ ล. น้องสาวจำเลยซึ่งมีร่างกายไม่สมประกอบขัดขวาง จำเลยจึงตัดสินใจที่จะฆ่า โดยหลอก ล. ให้ช่วยขนของที่กองไว้หลังบ้าน ในขณะที่ ล. เดินไปหลังบ้านจำเลยก็ใช้ไม้เนื้อแข็งตีไปที่กกหูและศีรษะของ ล. อย่างแรง ผ. ซึ่งเดินตามหลังมาต่อว่าจำเลย จำเลยจึงใช้ไม้ดังกล่าวตีไปที่ใบหน้าของ ผ. หลายครั้ง จากนั้น จึงเดินทางหนีไปจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ
             นอกจากนี้ จำเลยยังรับสารภาพต่อ ย. บิดาจำเลย หลังเกิดเหตุประมาณ ๗ วัน ว่าได้ฆ่าผู้ตายทั้งสองจริงเพราะน้อยใจ และยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่าจำเลยไม่ไปร่วมงานศพเพิ่งไปในวันเผา ทั้งที่จำเลยทราบข่าวการตายตั้งแต่วันแรก อันถือเป็นข้อพิรุธเพราะจำเลยอาจเตรียมหาช่องทางในทางต่อสู้คดีได้ พฤติการณ์แวดล้อมดังกล่าวเมื่อฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน ฟังได้มั่นคงว่าจำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายทั้งสองจริง
             ส่วนที่จำเลยอ้างฐานที่อยู่และส่งบัตรโดยสารเครื่องบินเป็นพยานนั้น ก็ปรากฏว่าบัตรดังกล่าวมีรอยลบเป็นพิรุธ และที่ ส. พยานจำเลยเบิกความว่าเป็นผู้เช่ารถยนต์ตู้ของจำเลยให้ไปส่งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน แต่ได้เลื่อนเป็นวันที่ ๒๓ เดือนเดียวกัน ในวันที่ ๒๑ จึงให้จำเลยพาคณะไปเที่ยวภายในจังหวัดลำปางนั้น ก็ไม่อาจยืนยันว่าวันที่ ๒๐ คืนเกิดเหตุจำเลยอยู่ ณ ที่ใด ทั้งระยะเวลาการเดินทางจากจังหวัดอ่างทองที่เกิดเหตุไปยังจังหวัดลำปางสามารถใช้เวลาเดินทางไปถึงได้ในคืนเดียว สำหรับใบเสร็จรับเงินของโรงแรมที่จำเลยส่งอ้างเพื่อแสดงว่าได้พักอยู่ในโรงแรมในคืนเกิดเหตุนั้น ก็มีรอยเขียนทับวันที่ที่ออกใบเสร็จรับเงินจึงเป็นพิรุธเช่นกัน พยานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                "มาตรา ๑๔๗  เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้น ในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"
(*ข้อพิจารณา.-  คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี   ได้แก่
               ๑. คำสั่งของอัยการสูงสุด ไม่ฟ้องคดีฆาตกรรมฯ ตามมาตรา ๑๔๓ วรรคท้าย
               ๒. ผบ.ตร.  รอง ผบ.ตร.  ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในกรุงเทพฯ หรือ ผบช.  รอง ผบช. ในจังหวัดอื่น เห็นชอบตามคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง  และมาตรา ๑๔๕/๑ วรรคหนึ่ง
               ๓. คำสั่งของอัยการสูงสุด ชี้ขาดไม่ฟ้องคดี ตามมาตรา ๑๔๕ วรรคสอง และมาตรา ๑๔๕/๑ วรรคสอง)

              "มาตรา ๑๔๒   ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม หรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราว หรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวน ว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
               ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งแต่สำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ ส่วนตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยหรือปล่อยชั่วคราว ถ้าผู้ต้องหาถูกขังอยู่ ให้ขอเองหรือขอให้พนักงานอัยการขอต่อศาลให้ปล่อย
               ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว
               แต่ถ้าเป็นความผิด ซึ่งพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบได้ และผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเปรียบเทียบนั้นแล้ว ให้บันทึกการเปรียบเทียบนั้นไว้ แล้วส่งไปให้พนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน"

              "มาตรา ๑๔๓  เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนดั่งกล่าวในมาตราก่อน ให้พนักงานอัยการปฏิบัติดั่งต่อไปนี้
                (๑) ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องต่อไป
                (๒) ในกรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ออกคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งไม่ฟ้อง
                ในกรณีหนึ่งกรณีใดข้างต้น พนักงานอัยการมีอำนาจ
                (ก) สั่งตามที่เห็นควร ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อสั่งต่อไป
                (ข) วินิจฉัยว่าควรปล่อยผู้ต้องหา ปล่อยชั่วคราว ควบคุมไว้ หรือขอให้ศาลขังแล้วแต่กรณี และจัดการหรือสั่งการให้เป็นไปตามนั้น
                ในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น มีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง"

              "มาตรา ๑๔๕  ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่น ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหา ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๓
                ในกรณีที่อธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน
                บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกาหรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม"