วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การจูงใจให้ผู้ต้องหาเพื่อให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๒๔/๒๕๔๔
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๕
                โจทก์มีพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า ภายหลังเกิดเหตุ พยานทั้งสองติดตามไปสอบปากคำจำเลยซึ่งได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำเลยรับต่อพยานทั้งสองว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ จำเลยต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเมาสุราหลับอยู่ในรถยนต์กระบะคันดังกล่าว ซึ่งมีนายวาทิตย์ เป็นผู้ขับ
                พยานโจทก์ทั้งสองปากต่างเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งสอบปากคำจำเลยในช่วงกระชั้นชิดต่อเนื่องกับเหตุการณ์จนจำเลยไม่มีเวลาเสริมแต่งข้อเท็จจริงได้ทันท่วงที จึงมีเหตุอันควรเชื่อดังที่พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความโดยไม่ระแวงสงสัยว่าเป็นการปรักปรำจำเลย ที่จำเลยต่อสู้โดยอ้างว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ น่าจะเป็นเพราะต้องการให้ตนเองพ้นผิด ซึ่งฟังหักล้างคำพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ได้
               ส่วนที่ร้อยตำรวจเอก ว. แจ้งแก่จำเลยที่โรงพยาบาลว่านายวาทิตย์ยังไม่ตาย ซึ่งผิดไปจากความจริงนั้น ไม่ถือเป็นการล่อลวงเพื่อจูงใจให้จำเลยรับว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ อันจะมีผลให้ไม่อาจฟังตามคำรับของจำเลยได้ดังจำเลยฎีกา หากแต่เป็นการดำเนินการที่พนักงานสอบสวนได้ทำไปเพื่อทราบข้อเท็จจริงตามอำนาจของกฎหมาย จึงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ จำเลยรับว่าขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการเมาสุรา ประกอบกับทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์สอดคล้องต้องกันมีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ กรณีเชื่อได้ว่าจำเลยขับรถในขณะมึนเมา ล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในทางเดินรถสวน โดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน
               การที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่ามิได้กระทำโดยประมาทโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ย่อมไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ จึงวินิจฉัยว่าเหตุเกิดเพราะจำเลยประมาท

การสอบสวนปากคำพยานพร้อมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๓๗๘/๒๕๓๙
ป.อ. มาตรา ๘๐, ๒๘๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๑, ๑๓๔, ๑๓๕, ๑๙๕ วรรคสอง
               ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใด ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวน ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนปากคำพยานโจทก์ทั้งห้าปากพร้อมกัน และพันตำรวจโท อ. พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วย จึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่
              โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ กำหนดโทษไว้เป็น ๓ ประการ คือ โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี โดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย คือ โทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ฉะนั้น โทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ๒๐ ปี ดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้ คือ ๑๓ ปี ๔ เดือน การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า ๑๕ ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การรับฟัง "คำรับสารภาพชั้นจับกุมหรือมอบตัว"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๑๕/๒๕๔๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔ วรรคท้าย, ๑๓๕
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๒
              มาตรา ๒ แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒)ฯ กำหนดให้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว
             ดังนั้น ข้อความในมาตรา ๘๔ วรรคสุดท้าย แห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ... ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน..." นั้น หมายถึง ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมคดีนี้ จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานผู้จับก่อนที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน
           ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ญาติพี่น้องฟัง ญาติพี่น้องจำเลยจึงบอกจำเลยให้รับสารภาพ แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น คำให้การดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๓๑/๒๕๔๘
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑/๒๕๔๘)
ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔, ๒๒๖
              ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๔๗ ออกใช้บังคับ มาตรา ๑๙ ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวยกเลิกความในมาตรา ๘๔ แห่ง ป.วิ.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสุดท้ายของมาตรา ๘๔ ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป บัญญัติว่า "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี"
              แสดงให้เห็นว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับ มารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หาได้มีความหมายว่าขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยไม่ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖ โดยชอบแล้ว
              ประกอบกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา ๘๔ วรรคสุดท้าย ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ ต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษได้ตามกฎหมายเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๖๒/๒๕๓๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๖ , ๒๒๗
               พยานหลักฐานประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ จะต้องไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพ การรับฟังคำรับชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยปฏิเสธในชั้นพิจารณามาใช้ลงโทษจำเลยโจทก์ต้องมีพยานประกอบว่าจำเลยกระทำผิดจริง โดยพยานประกอบนั้น ต้องมิใช่คำของเจ้าพนักงานตำรวจผู้สอบสวนคำรับนั้น
              ส่วนบันทึกการจับกุม คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่ายประกอบการนำชี้ที่เกิดเหตุ แม้จะมีภาพจำเลยและมีข้อความระบุว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนไม่ใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพื่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด